5 อุปสรรคที่พบบ่อยการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

สรุปสถานการณ์ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

  • ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำทางรายได้อยู่ในอันดับ 3 ของโลก
  • ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นปัญหาเรื้อรังข้ามรุ่นมานานกว่า 4 รุ่นแล้ว
  • คนยากจนที่สุด 20% ล่าง 5 จาก 100 เรียนต่อระดับอุดมศึกษา
  • เมื่อเทียบรายได้เฉลี่ยต่อเดือนของคนมีวุฒิมัธยม (13,118 บาท) กับวุฒิปริญญาตรี (27,132 บาท) พบว่าต่างกันถึง 197%
  • จากเด็กในการศึกษาภาคบังคับ 9 ล้านคน เด็กในระบบ 1 ใน 5 คน หรือประมาณ 2.5 ล้านคนเสี่ยงเรียนไม่จบและหลุดจากระบบ จากการเผชิญปัญหาความยากจน มีความพิการและระบบไม่ตอบโจทย์ อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล และมีปัญหาครอบครัว
  • ในช่วงปี 2563-2565 นักเรียนยากจนพิเศษเพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 1.3 ล้านคน
  • เปิดดูหนี้สินของผู้รับทุนนักเรียนยากจน พบว่าหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ 131,500 บาท โดยมีรายได้เฉลี่ย 1,300 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือนเท่านั้น
  • จากเด็กนอกระบบทั้งหมด 1.4 ล้านคน มีเด็กนอกระบบ 7 ใน 10 คน ไม่กลับไปเรียนต่อ ไม่ทำงาน/ฝึกอาชีพ เพราะไม่มีระบบสนับสนุนที่เข้าใจ ขาดเป้าหมายกำลังใจ และสุดท้ายเข้าสู่วงจรจน เจ็บ

จากการศึกษาปัญหา สัมภาษณ์ผู้เล่นในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และนำข้อมูลมาเขียนในตาราง Problem Discovery เราพบอุปสรรคที่พบบ่อยในการแก้ไขปัญหา 5 อุปสรรคสำคัญ ดังนี้

การกระจุกตัวของความยากจนในพื้นที่ที่ได้ก่อให้เกิดช่องว่างทางสังคมเศรษฐกิจ (Socioeconomic Gap) ระหว่างกลุ่มผู้ที่มีความพร้อมมากกว่ากับผู้ที่ความพร้อมน้อยทั้งในและนอกพื้นที่ ซึ่งความพร้อมดั่งกล่าว หมายถึง ต้นทุนชีวิต รวมถึงทรัพยากรที่ต้องมีเพื่อเข้ารับสวัสดิการด้านการศึกษา เช่น ประเภทเรียนฟรี (ค่าเทอม) แต่ยังมีค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนแฝงที่เด็กไม่อาจมีด้วย เริ่มตั้งแต่ ทุนทรัพย์ (ค่าชุดนักเรียน ค่าเดินทาง ค่าหนังสือ ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่ากิจกรรมเสริมอื่น ๆ ค่าสมัครสอบ) เวลา (เดินทางไปสถานศึกษา ทบทวนบทเรียนทำการบ้าน พักผ่อนให้เพียงพอ ช่วยผู้ปกครองทำงาน ทำงานบ้าน การใช้เวลาร่วมกันในครอบครัว) สังคม (ค่านิยมของชุมชน ครอบครัวที่ให้คุณค่ากับการศึกษา-การจบการศึกษา เพื่อนที่ชวนกันเรียน ครูที่เข้าใจและมีทักษะเท่าทัน) โดยยังไม่รวมแรงขับเคลื่อนภายในตัวเด็ก เป้าหมายชีวิต ความฝัน การมีวินัย การจัดการอารมณ์ความคาดหวังและการให้อภัยตนเอง เป็นต้น ดังนั้น การแก้ระบบสวัสดิการอย่างเดียวจึงไม่พอ ความพร้อมทางเศรษฐกิจสังคมก็เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงไปพร้อมกันด้วย

เมื่อสังคมมีระยะห่าง ผู้คนรับรู้เรื่องราวของกันผ่านสื่อ ซึ่งปัญหาความยากจนและเรื่องเกี่ยวกับเด็กมักจะถูกเล่าในเชิงน่าสงสาร-สงเคราะห์ หรือเล่าสถานการณ์ความล้มเหลวด้านการศึกษาว่าเป็นเรื่องปัจเจก มากกว่าเป็นเรื่องของระบบที่ต้องแก้ไข นานวันกลายเป็นการรับสารที่นำไปสู่ความเข้าใจที่ผิด เป็นการตีตราและผลิตซ้ำ ส่งผลให้เกิดความเฉยชากับปัญหาในระบบและรอให้รัฐมาแก้ไขปัญหาด้วยวิธีเดิม ๆ หรือวิธีการอื่นที่ไม่สอดคล้องกับบริบท โดยอาจจะไปสร้างความเคยชินให้กับกลุ่มคนยากจนในการรอรับโอกาส หรือให้โอกาสที่เขาไม่ได้ต้องการหรือเลือกเอง แต่ต้องรับไว้ก่อนด้วยสถานการณ์ไม่มีทางเลือก ทำให้ปัญหาไม่ถูกแก้ เท่ากับระบบก็ไม่ถูกแก้และภาษีก็ถูกใช้กับเรื่องเดิมเช่นกัน

ระบบที่ครูอยู่ไม่ได้เอื้อให้ครูเต็มที่กับการสอน และเนื่องด้วยระบบการศึกษาที่มีลักษณะการทำงานแบบมีลำดับชั้น (Hierachical) และเป็นวัฒนธรรมแห่งความกลัว (Fear based) ครูจึงไม่สามารถปฏิเสธงานที่สั่งลงมาจากผู้อำนวยการหน่วยการศึกษา เขตพื้นที่ กระทรวงศึกษาธิการ หรือรัฐส่วนกลางได้ หนำซ้ำครูยังเป็นฝ่ายเดียวที่ถูกประเมินผล โดยที่ครูไม่สามารถสะท้อนความคิดเห็น (Feedback) ไม่มีการประเมินระบบว่าได้สนับสนุนการสอนของครูได้ดีหรือไม่ และนอกเหนือจากโครงสร้างของระบบงานที่ไม่เอื้อให้ครูได้สอนแล้ว ครูยังต้องแบกรับหน้าที่และความคาดหวังจากผู้ปกครองและชุมชนในการดูแลแก้ไขปัญหาเชิงพฤติกรรม ปัญหาการเรียนรู้ ความสามารถด้านวิชาการของเด็กด้วย

จึงไม่น่าแปลกใจ หากครูจะเครียด ทุกข์ ไม่มีเวลาในการดูแลร่างกายจิตใจและครอบครัวของตนเอง โดยในระยะยาว หากครูไม่ได้รับการสนับสนุนที่เหมาะสม ระบบจะเสียครูดี ๆ ไปจากระบบ หรือ อยู่ในระบบแบบ offline หมายถึง ครูอยู่ในห้องแต่เล่นโทรศัพท์หรือไม่ได้สนใจสอน ส่วนผู้ที่ต้องการและตั้งใจจะเป็นครูก็จะมีจำนวนน้อยลงเรื่อย ๆ นักเรียนก็จะได้รับผลกระทบด้านโอกาสในการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ ด้านการมีสมาธิ ด้านความสนใจต่อเนื้อหา ผลการเรียนรู้และการเติบโตทั้งทางร่างกาย จิตใจ ความรู้ของเด็กก็ลดคุณภาพลงไปด้วย ไม่ว่าครูจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม เพราะเมื่ออยู่ในพื้นที่แห่งความกลัว เด็กก็จะต้องใส่ใจกับความปลอดภัยของตัวเองก่อน เลยไม่สามารถเรียนรู้ และพัฒนาทักษะการคิดขั้นสูง ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ยากยิ่งขึ้นไปอีก

ดังนั้น ผู้ที่อยู่ในพื้นที่จะเข้าใจสถานการณ์ความเหลื่อมการศึกษา ไปจนถึงความต้องการของตลาดแรงงานดีที่สุด (หากเขาได้คลุกคลีและมีความเห็นอกเห็นใจกับกลุ่มเป้าหมายและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากพอ) จะรู้ว่าอะไรดีหรือไม่ดีสำหรับพื้นที่ของตน และรู้ว่าต้องทำงานกับใครบ้างจึงจะทำให้เกิดผล โดยที่ภาครัฐส่วนกลางสนับสนุนให้เกิดความก้าวหน้า ความยั่งยืน และความสามารถที่จะขยายผลได้ อย่างไรก็ดี ปัจจุบันการพัฒนาการศึกษาระดับท้องถิ่นยังมีความท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นด้านการจัดสรรงบประมาณ การระดมหาทรัพยากรท้องถิ่น การชี้เป้าและพัฒนาคนในพื้นที่ให้สามารถขับเคลื่อนงานจากต้นทุนที่มีในพื้นที่ รวมถึงเหนี่ยวนำผู้เล่นในภาคส่วนต่าง ๆ มามีส่วนร่วมในการสร้างการเรียนรู้เชิงพื้นที่ โดยการทำความเข้าใจ ตั้งเป้าหมาย และลงมือทำงานร่วมกันจนเกิดผลสำเร็จ

การศึกษาให้บริการแบบเหมารวม หรือ One size fits all ซึ่งไม่ได้เหมาะกับเด็กทุกคน และไม่ได้เหมาะกับทุกพื้นที่ทุกบริบท แต่เหมาะกับเด็กที่มีความพร้อมมากกว่า หลายประเทศจึงพัฒนาการศึกษาด้วยการกระจายอำนาจหรือกระจายการเป็นเจ้าของสู่ท้องถิ่นเพื่อให้คนหน้างานตัดสินใจและจัดการเรียนรู้ที่จะให้ดอกออกผลได้จริง เพราะแต่ละพื้นที่มีวิธีการทำงานและโจทย์ความต้องการต่างกัน

ประเทศไทยประสบปัญหาความยากจนมาอย่างยาวนาน เรื้อรังข้ามรุ่นมาถึง 4 รุ่น แม้จะมีความพยายามแก้ไขปัญหานี้มาต่อเนื่อง แต่ไม่เพียงพอกับโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง เมื่อต้องพบกับปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ทำให้ปัญหารุนแรงขึ้น เพราะเมื่อหลังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ปัจจุบัน พบว่ารายได้ของครอบครัวยากจน 15% ต่ำสุด เฉลี่ยอยู่ที่ 2,762 บาทต่อเดือน ส่วนรายได้ของผู้มีวุฒิมัธยม 6 อยู่ที่ไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน โดยไม่มีแนวโน้มที่จะมีการขึ้นรายได้ (กสศ., 2566) ซึ่งกลุ่มครอบครัวยากจนแบกรับภาระรายจ่ายด้านการศึกษาสูงกว่าครอบครัวร่ำรวยถึง 4 เท่า เมื่อเทียบกับรายได้ (กสศ., 2566)

เด็กยากจนจำนวนมากจึงอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เข้าไม่ถึงโอกาสด้านการศึกษา ไม่มีต้นแบบความสำเร็จจากการศึกษาให้เห็นเป็นแรงบันดาลใจ เนื่องด้วยคนในครอบครัวของเด็กเองก็ไม่มีโอกาสเรียนหรือเรียนจบไม่สูง จึงไม่เห็นความเป็นไปได้จากการเรียน ไม่คาดหวังด้านการศึกษากับเด็กและไม่มีแผนการเงินเพื่อส่งเสียเด็กเล่าเรียน เพราะในทุก ๆ วัน พวกเขาพบปัญหาที่ต้องแก้ไขเฉพาะหน้า บวกกับการศึกษาเป็นเรื่องที่มีความสำคัญน้อยกว่าปัญหาปากท้องรายวัน หากมีโอกาสครอบครัวมักให้เด็กไปทำงานก่อน เพราะการไปเรียนเท่ากับเสียโอกาสในการหารายได้

ปัญหาการศึกษาและความเหลื่อมล้ำเป็นประเด็นต้น ๆ ที่ได้รับความสนใจมาตลอด แต่ด้วยปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ซับซ้อน มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายกลุ่ม จึงถูกกล่าวถึงแบบควบรวม หลาย ๆ ครั้ง ทำให้ผู้ที่สนใจไม่รู้จะเริ่มแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างไร ดูข้อมูลที่ไหน ตรงไหน หรือทำอะไรดี การตั้งคำถาม การเก็บข้อมูล การสร้างหลักฐาน และการสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูล จึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญมากที่จะช่วยบอกเล่าสถานการณ์ ชวนแต่ละภาคส่วนให้เข้ามาเห็นความสำคัญและมีส่วนร่วม โดยที่ผ่านมานั้น ได้มีความพยายามที่จะใช้ข้อมูลขับเคลื่อนความเสมอภาคทางการศึกษา แต่ข้อมูลเชิงลึก ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เข้าใจง่าย และสร้างแรงผลักดันยังมีอยู่จำนวนน้อย ไม่ตอบรับกับความต้องการและไม่ละเอียดมากพอที่จะนำไปใช้ต่อยอดในการคิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้ ในขณะเดียวกันที่คนทั่วไปก็ยังไม่มีทักษะในการเก็บและสังเคราะห์ข้อมูลด้วยตัวเอง และข้อมูลบางอย่างก็ไม่มีสิทธิ์ในการเก็บ เช่น ข้อมูลประชากร ข้อมูลที่คนทั่วไปจะเข้าถึงได้จึงต้องรอจากภาครัฐ ภาคการศึกษา ศูนย์วิจัย สำนักข่าว หรือสื่อออนไลน์อยู่

หลาย ๆ ครั้ง ข้อมูลที่มีอยู่ก็แฝงไปด้วย bias ที่เข้าใจกลุ่มเป้าหมายผิด ๆ หรือการเก็บข้อมูลแบบเหมารวม เพราะไม่ได้คิดระยะยาวว่าข้อมูลจะนำไปใช้อะไรต่อ ทำให้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ข้อมูลอย่างเลือกไม่ได้ อาจนำไปสู่การตัดสินใจคลาดเคลื่อน ตั้งโจทย์สร้างความเปลี่ยนแปลงคลาดเคลื่อน และลงทรัพยากรไปกับสิ่งที่อาจจะไม่ตอบโจทย์นัก
สุดท้ายการเปลี่ยนแปลงจะเกิดได้ยาก โดยเฉพาะในโลกปัจจุบัน ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดฝันมากมาย ทำให้ทุกคน ทุกภาคส่วนต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด การทำข้อมูลแบบดั้งเดิมไม่สามารถตอบโจทย์การสร้างนวัตกรรมได้อีกแล้ว

ข้อมูลเชิงลึกชุดนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Problem Discovery – Framework & Insight for Equitable Education